‘ไดกิ้น’ประกาศใช้ไทยเป็นฮับอาเซียน หลัง’สุริยะ’บุกเคาะประตูถกซีอีโอที่ญี่ปุ่น กระทรวงเมติสนใจลงทุนไฮโดรเจนในนิคมฯสมาร์ท ปาร์ค จ.ระยอง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 11-15 มกราคม 2566 เพิ่มเติมว่า มีโอกาสได้พบกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ไดกิ้น(Daikin Co.,Ltd.) ที่นครโอซาก้า เพื่อหารือถึงการพัฒนาบริษัท ไดกิ้น ในประเทศไทย โดยบริษัทแจ้งว่ามีแผนที่จะพัฒนาบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยเป็นฮับของอาเซียน คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานแรงงานไทยได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทย ทั้งนี้พบว่า บริษัท ไดกิ้น ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงสุดเป็นอันดับสองของญี่ปุ่นในปีนี้ รองจากบริษัทโซนี่
“นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทาง บริษัท ไดกิ้น เล็งเห็นศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฮับของอาเซียน โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ไดกิ้น ประเทศไทย มีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ชลบุรี) 4 โรงงาน และที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ระยอง) อีก 1 โรงงาน”นายสุริยะกล่าว
นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้หารือกับนายมัตสึโอะ ทาเคฮิโกะ อธิบดีกรมนโยบายการค้า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ถึงประเด็นการสนับสนุนโครงการไฮโดรเจนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จ.ระยอง ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คืบหน้าแล้ว 40% พื้นที่ 1,383.76 ไร่ คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567 โดย กนอ.ได้ย้ำว่านิคมฯ สมาร์ท ปาร์ค เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมพลังงานสะอาด มีแผนการนำพลังงานไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถรับส่งแรงงาน พนักงานภายในนิคมอุตสาหกรรม ใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานทดแทนด้านพลังงาน ขยายผลเทคโนโลยีรถยนต์พลังงาน รวมถึงจะตั้งโรงงานเพื่อผลิตไฮโดรเจน
โดยที่ผ่านมากนอ.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การศึกษาเพื่อพัฒนา นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในพื้นที่มาบตาพุด ร่วมกับหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมสำคัญ 7 ราย ขณะเดียวกัน องค์การส่งเสริมการต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาไฮโดรเจน และเตรียมขอทุนจากองค์กรพัฒนาพลังงานและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมใหม่ (เนโด) ในการพัฒนาและลงทุนไฮโดรเจนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ด้วย
“ผมได้ขอให้ภาครัฐของญี่ปุ่นช่วยประกาศเชิญชวนให้นักลงทุนมาลงทุนในนิคมฯสมาร์ทปาร์ค รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ โดยการลงทุนในนิคมฯสมาร์ท ปาร์ค คาดจะสร้างมูลค่าของจีดีพีในประเทศปีละประมาณ 53,000 ล้านบาท เพิ่มการจ้างงานประมาณ 7,500 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,400 ล้านบาทต่อปี” นายสุริยะกล่าว
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ได้กล่าวเชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้าลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ซึ่งเป็นการลงทุนบนพื้นที่ถมทะเลเพื่อใช้เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าเหลว รวมทั้งคลังสินค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงการท่าเทียบเรือสินค้าเหลว (แปลง A) และคลังสินค้าหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (แปลง C) ขณะเดียวกันได้แจ้งกับนายมัตสึโอะ ว่า กนอ.มีแนวทางพัฒนานิคมอุตสาหกรรมตามความต้องการของนักลงทุน ทั้งการร่วมพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และระบบสาธารณูปโภค กับ กนอ. ในรูปแบบอัจฉริยะ ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน หรือการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมบีซีจี ที่จะดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม
อ่านข่าวน่าสนใจ
- พลิกที่ดิน 77 จังหวัด ‘ราคาประเมิน’ ถูกที่สุดในประเทศไทย วาละ 25-1,000 บาท
- เปิดรายได้ ‘อลวน 5’ หลัง เอ๋ ไพโรจน์ ลงทุน 30 ล้าน วอนช่วยไปดู-หวั่นเจ๊ง
- ช่างเสื้อ เปิดปากเล่าถึง ชุดเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ปมขัดแย้งระหว่างเมแกน-เคท
- ‘ชูวิทย์’ แฉเหตุ ‘นอท สลากพลัส’ ซวย ถูกดีเอสไอบุก ยกสุภาษิต ‘อยู่ให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้’