เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) หรือ “แอร์พอร์ตซิตี้” เป็น 1 ใน 7 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ ครม.มีมติเห็นชอบเรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ
ส่วนอีก 6 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ได้แก่ 1.เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) 2.เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) 3.เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (EECh) 4.ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd) 5.การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) (EECg) และ 6.ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูงบ้านฉาง (EECtp)
ทั้งนี้ เห็นชอบให้ “เมืองการบินภาคตะวันออก” (EECa) เป็นโครงการตัวอย่างในการนำร่องด้านสิทธิประโยชน์ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อให้โครงการสนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออกและเป็นศูนย์กลางการบินและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน กำหนดให้ “แอร์พอร์ตซิตี้” บนพื้นที่ 1,032 ไร่ ในเขต “อีอีซีเอ” เป็นเขตประกอบการเสรี
ซึ่งในพื้นที่จะมีกิจกรรมและสันทนาการเพื่อรองรับการใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เช่น โรงแรม 5 ดาว ห้างสรรพสินค้าดิวตี้ฟรี ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ งานแสดงสินค้าเพื่อจัดการประชุม และความบันเทิงหลายรูปแบบ เพื่อดึงดูดการใช้จ่ายจากผู้เยี่ยมชมฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้เดินทางพักเครื่อง กลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่ และกลุ่มผู้อาศัยในเมืองการบิน จะต้องมีเงื่อนไขพิเศษเพื่อกำหนดความคล่องตัวในการรองรับเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นมหาศาล เช่น สิทธิประโยชน์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม การขอวีซ่า และเวิร์กเพอร์มิต การชำระภาษีเงินได้ การผ่อนปรนข้อจำกัดทางกฎหมายของคนต่างด้าว
ทั้งนี้ สกพอ.ร่วมกับกองทัพเรือ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์กรมหาชน) หรือ สสปน. มีแผนจัดงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย (Thailand International Air Show) ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมธุรกิจการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน และส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค
การจัดงานดังกล่าว จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2568 สอดคล้องกับการเปิดบริการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานรวมประมาณ 5,425 คน และจะจัดงานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2570
คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 36,300 คน มีผู้เข้าแสดงงานประมาณ 1,240 ราย การดำเนินงานภายใต้โครงการจะมีการจัดงานที่เกี่ยวข้องทั้งงานใหม่และงานที่จัดต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2566-2570 จำนวน 28 งานในพื้นที่อีอีซี รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของงาน Thailand International Air Show
ทั้งหมด จะสร้างรายได้รวมให้แก่ประเทศกว่า 8,200 ล้านบาท
ลองไปฟังความเห็นของตัวแทนในพื้นที่อีอีซี คิดอย่างไรกับ “แอร์พอร์ตซิตี้”
มนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ที่ปรึกษานายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง เผยว่า พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง รวม 6,500 ไร่ จะนำพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือส่วนหนึ่งมาทำเป็น “แอร์พอร์ตซิตี้” เป็นเขตประกอบการค้าเสรี เพื่อดึงดูดนักลงทุน นักธุรกิจจากทั่วโลกให้มาใช้บริการพิเศษที่นี่ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น โรงแรมระดับ 5 ดาว ศูนย์ประชุม ศูนย์นิทรรศการ ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าดปลอดภาษี สถานบันเทิงหลากหลายรูปแบบ จะช่วยยกระดับสู่การเป็นสนามบินระดับโลก เป็นศูนย์กลางการบินและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน
“เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการใน จ.ระยอง เข้าไปมีส่วนในการลงทุน เปิดร้านค้า และภาคบริการ โดยคนระยองจะมีงานให้ทำมากขึ้น ทั้งโรงแรม ศูนย์ประชุม และอื่นๆ อีกมาก” มนตรีมองถึงโอกาสที่จะเกิดกับระยองจากเมืองการบิน
สุนทร ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัด 1 อีอีซี (ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง) ให้ความเห็นว่า แอร์พอร์ตซิตี้คงใช้เวลานาน เพราะต้องรอความพร้อมของรถไฟความเร็วสูงที่จะวิ่งผ่าน 3 สนามบิน ขณะที่วาระของรัฐบาลจะหมดต้นปี 2566 ถ้ารัฐบาลชุดเดิมกลับมาก็จะสานต่อโครงการดังกล่าวได้ทันที แต่หากเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายก็จะเปลี่ยนไปอีก และต้องเริ่มต้นกันใหม่ จึงอยากให้รัฐบาลชุดใหม่สานต่อโครงการดังกล่าว “หากพื้นที่อีอีซีเกิดขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ผลดีที่จะตามมาคือมีการสร้างงาน สร้างรายได้ไม่แต่เฉพาะคนทั้ง 3 จังหวัดเท่านั้น แต่จะเกิดผลดีต่อคนทั้งประเทศ จะได้มีงานทำ มีเงินใช้ เศรษฐกิจของประเทศก็จะดีขึ้นตามไปด้วย”ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัด 1 อีอีซี ให้ความเห็นสนับสนุน
ด้าน ธนัท โสวนะปรีชา ประธานหอการค้าจังหวัดตราด เสริมว่า ที่รัฐบาลพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก จะเป็นการสร้างความเจริญให้กับจังหวัดในภาคตะวันออกอย่างแท้จริง โดยเฉพาะมูลค่าเพิ่มที่จะเกิดจากทรัพย์สิน อย่างแรกก็คือ ที่ดินจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทันที เพราะเมื่อเป็นเมืองแห่งการบินแห่งภาคตะวันออก จะเกิดการจ้างแรงงานจำนวนมาก และจะมีการเดินทางเข้ามาของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งการท่องเที่ยวซึ่ง จ.ตราดจะได้รับโดยตรง เกิดการลงทุนในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวทั้งระบบ ที่ผ่านมาราคาที่ดินขยับจากไร่ละไม่ถึงล้านปัจจุบันราคาที่ดินราคาไร่ละ 3 ล้านบาท หากมีการลงทุนเพิ่มหรือมีความต้องการย่อมราคาสูงขึ้นอีก
ปัจจุบัน จ.ตราด มีสนามบินของบางกอกแอร์เวย์ส ที่รองรับเครื่องบินปีกหมุนเท่านั้น เครื่องใหญ่กว่านี้ลงไม่ได้ เพราะรันเวย์ยาวไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สขอขยายรันเวย์แล้ว เพื่อเครื่องบินเจ็ตลงได้ จะเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร ทำให้นักท่องเที่ยวมา จ.ตราดด้วยทั้งเครื่องบินและทางบก เมื่อภาคตะวันออกเป็นเมืองการบิน และยิ่งเหมาะสมกับ จ.ตราด เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่รองรับได้ อีกทั้งยังสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวในกัมพูชาและเวียดนามตอนใต้ได้ด้วย เป็นจุดขายที่ดีกว่าจังหวัดอื่นๆ ด้วย
“สิ่งที่จะเกิดต่อไปก็คือการท่องเที่ยวทางทะเลที่ไม่เพียงเชื่อมกับหมู่เกาะต่างใน จ.ตราด แต่ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังกัมพูชา และเวียดนามได้ ที่ผ่านมามีการผลักดันจากภาคเอกชนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่มีความพร้อมทั้งหมด ซึ่งหากทำได้ก็จะเกิดการลงทุนด้านการท่องเที่ยวทางทะเลใน 3 ประเทศ จะเกิดธุรกิจมารีน่า และการมีท่าเรือยอชต์อยู่ใน จ.ตราด หรือตามหมู่เกาะที่มีขนาดใหญ่ สามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดตราดและประเทศได้เพิ่มขึ้นอีกมาก” ประธานหอการค้าจังหวัดตราด คาดผลที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ “แอร์พอร์ตซิตี้”
ขณะที่ ชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าฯตราด ระบุว่า เขตประกอบการเสรีเมืองการบิน หรือแอร์พอร์ตซิตี้ แน่นอนว่าจะเกิดผลดีกับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของ จ.ตราด มาก โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงเรื่องโลจิสติกส์ จะสามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศกัมพูชาและเวียดนามทางใต้ได้ ทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งจะมี จ.ตราดเป็นศูนย์กลาง ยิ่งพัฒนาให้ภาคตะวันออกเป็นศูนย์การบินด้วยแล้ว จะเกิดการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ จ.ตราดเพิ่มขึ้น
แผนการพัฒนาของ จ.ตราด ต้องการเปิดประตูในทุกช่องทางที่จะเข้ามายัง จ.ตราด ล่าสุดทาง จ.ตราดส่งเสริมให้บางกอกแอร์เวย์สเข้ามาลงทุนขยายปรับรันเวย์ให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น เพื่อให้เครื่องบินเจ็ตเข้ามาลงในสนามบินตราดได้ ทางจังหวัดเห็นชอบให้ปรับเนินดินออกเพื่อขยายรันเวย์ ซึ่งแผนของบางกอกแอร์เวย์สจะใช้เวลาอีก 1-2 ปี หากปรับเสร็จจะเอาเครื่องบินลำใหญ่ขึ้น ขนาด 160 ที่นั่งมาลงและอาจจะปรับแบบชาร์เตอร์ไฟลต์เพื่อให้เครื่องบินลง หรือบินข้ามประเทศเข้ามาจ.ตราดได้ จะสร้างมูลค่าเพิ่มการท่องเที่ยวของ จ.ตราด จากที่บินวันละ 1 เที่ยว 70 คน/ลำ จะเพิ่มขึ้น 160 คน/ลำ วันละ 3 เที่ยว จะเกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว การค้าของ จ.ตราด อย่างมาก
“จ.ตราด จะเป็นเซ็นเตอร์การท่องเที่ยวในภูมิภาค ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม สร้างมูลค่าของการค้า การท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท” ผู้ว่าฯตราดคาดหวังผลประโยชน์ที่จะเกิดกับ จ.ตราดในหลายๆ ด้าน เป็นความเห็นส่วนหนึ่งกับ “แอร์พอร์ตซิตี้” ที่รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคต