เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
วันนี้(8มี.ค.) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)พร้อมด้วยนายวีรชัย มั่นสินธร ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน ส.อ.ท. และคณะผู้บริหาร ส.อ.ท. เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการส่งเสริมบุคลากรภาคอุตสาหกรรมไทย-จีน โดยมี รศ.ดร. อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และ Mr. Zhao Bin (นายจ้าวปิง) ประธาน บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยองไทย – จีน จำกัด ร่วมลงนามเพื่อประสานความร่วมมือด้านการสนับสนุนนักศึกษาที่มีความสามารถในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถแก่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ ให้มีแรงงานที่มีศักยภาพสูง ตรงตามความต้องการ โดยมี นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ กรรมการบริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายทศพร เลิศพิเชฐ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และ Mr. Tong Bo (นายตงปอ) รองประธาน บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยองไทย – จีน จำกัด เป็นผู้ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน และคุณหวังลี่ผิง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ ประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เข้าร่วมพิธี
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือเพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาที่มีคุณสมบัติและความรู้ความเข้าใจในภาษา วัฒนธรรม และหลักการดำเนินธุรกิจของจีน เข้าสู่ตลาดแรงงาน และยังเป็นการแก้ไขหรือบรรเทาความไม่สะดวกในการจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับจีนโดยตรง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังคงขาดแคลนบุคลากรเหล่านี้เป็นจำนวนมาก และมองว่าการดำเนินการจัดทำบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการจีนในไทย แต่อาจขยายความร่วมมือดังกล่าวไปยังผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำการขยายตลาดไปยังประเทศจีนด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ส.อ.ท. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
นายวีรชัย มั่นสินธร ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การจัดทำบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ มีที่มาจากการเยี่ยมชม บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพัฒนาอุตสหากรรมระยองไทย-จีน จำกัด และได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ และความเข้าใจในภาษา วัฒนธรรม และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการจีน ดังนั้นสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน ภายใต้การดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ 3 ฝ่าย เพื่อเป็นช่องทางในการจับคู่ อุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม
รศ.ดร. อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสในการร่วมพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ Cross Border E-Commerce (China: Connect) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับและเตรียมความพร้อมบุคลากรเข้าสู่ยุค Industry Transformation โดยมุ่งเน้นที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยนำสินค้าเข้าไปในตลาดผู้บริโภคชาวจีน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีผู้สมัครผ่านแพลตฟอร์ม 318 คน และมีผู้สอบผ่านเกณฑ์การทดสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรจำนวน 120 คน ในวันนี้ถือเป็นการยกระดับไปอีกขึ้นหนึ่ง
โดยมีทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษามาร่วมกัน ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพแรงงานและนักศึกษาเข้าสู่อุตสาหกรรมและพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไป
Mr. Zhao Bin (นายจ้าวปิง) ประธาน บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยองไทย – จีน จำกัด กล่าวว่า ทุกฝ่ายเห็นพ้องในการจัดทำความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อขยายโอกาสในการทำงานแก่นักศึกษาที่มีศักยภาพตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ และยังตอบโจทย์กับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการจีนในไทย จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้จัดทำความร่วมมือด้านการส่งเสริมบุคลากรภาคอุตสาหกรรมไทย-จีน และต้องขอขอบคุณสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ในการอำนวยความสะดวกให้บันทึกความร่วมมือนี้เป็นส่วนเสริมให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจในไทยได้สะดวกขึ้น