เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
จันทบุรี - สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย อบรมการตัดแต่งผลทุเรียนรุ่นแรกภาคตะวันออกให้แก่ชาวสวนทุเรียนใน จ.ระยอง จันทบุรีและตราด รองรับผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาด ชี้เฉพาะระยองที่เดียวจะมีผลผลิตทั้งปีมากถึง 1.5 แสนตัน วอนเกษตรกรไม่ตัดทุเรียนอ่อน หลังเวียดนามไล่บี้ตลาดไทยในจีน
วันนี้ (8 ม.ค.) สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย ได้จัดกิจกรรมอบรมตัดแต่งผลทุเรียนรุ่นแรกของภาคตะวันออกให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนใน จ.ระยอง จันทบุรี ตราด จำนวน 200 ราย เพื่อพัฒนาคุณภาพและสร้างมาตรฐานและความน่าเชื่อถือให้ทุเรียนภาคตะวันออก ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมีความตระหนักผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพ
โดยมี นายโอภาส กว้างมาก รักษาราชการเกษตรจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรม นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 นายบัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง และนายวสันต์ รื่นรมย์ นายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย นำสมาชิกสมาคมเข้าร่วม ที่สวนแปลงปลูกทุเรียนต้นคู่เจ๊จุ๋ม บ้านเนินหย่อง ม.8 ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง
ภายในกิจกรรมมีทั้งการบรรยายความรู้เรื่อง สรีระวิทยาของทุเรียนระยะต่างๆ การตัดแต่งผลทุเรียน การบำรุงรักษาผลทุเรียนให้ได้คุณภาพ แนวทางการส่งออกทุเรียน นิทรรศการองค์ความรู้ด้านการผลิตทุเรียน พร้อมทั้งกิจกรรมการสาธิตการตัดแต่งผลทุเรียน
โดยทุเรียนรุ่นแรกของภาคตะวันออกจะออกสู่ตลาดช่วงกลางเดือน เม.ย.2566 นี้ ประมาณ 30% ส่วนรุ่นที่ 2 และ 3 จะออกสู่ตลาดห่างกันราว 25 วัน และคาดว่าผลผลิตทุเรียนจังหวัดระยอง ในปีนี้จะมีประมาณ 154,000 ตัน มากกว่าปีก่อนที่มีประมาณ 142,000 ตัน
นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 กล่าวว่า ภาครัฐยังมีความกังวลในตัวเกษตรกรชาวสวนทุเรียนบางรายที่ไม่รักษาคุณภาพของทุเรียน และให้ความสำคัญที่ราคาในช่วงต้นฤดูกาลเท่านั้น จนทำให้มีการตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด จนสร้างผลเสียให้ตลาดทุเรียนและภาพลักษณ์ของจังหวัด
“จึงอยากให้เกษตรกรตระหนักในเรื่องนี้ให้มากๆ โดยเฉพาะผลกระทบต่อการส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่ ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนรักษาคุณภาพ หรือมาตรฐานทุเรียนของตนเองให้ดี โดยเฉพาะมาตรฐานค่าความหวาน และเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแป้งในทุเรียนขั้นต่ำที่เดิมกำหนดไว้ 32 เปอร์เซ็นต์ แต่การส่งออกปีนี้ได้กำหนดเปอร์เซ็นต์แป้งไว้ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป”
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 ยังเผยอีกว่า จากนี้ไปจะมีการประชุมชี้แจงและรณรงค์ให้เกษตรกรได้รับทราบ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการทำคิวอาร์โค้ดเพื่อให้ลูกค้าทราบแหล่งที่มาของทุเรียนด้วย ซึ่งหากทำได้จะทำให้ทุเรียนอ่อนหมดไป
และเชื่อว่าจะยกระดับการส่งออกให้ดีขึ้นได้แม้เวียดนามจะเป็นคู่แข่งรายสำคัญของไทยที่ขณะนี้กลายเป็นผู้ปลูก หรือผู้ผลิตรายใหญ่ไล่หลังไทย โดยเฉพาะในฤดูกาลผลิตที่จะถึงนี้