การศึกษา
มอบ สอวช.สร้างเมืองต้นแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
วันศุกร์ ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2565, 19.23 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
สภานโยบาย มอบ สอวช. นำการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หนุนสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ นำร่องสร้างเมืองต้นแบบสระบุรี แม่เมาะ ระยอง
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาถึงกรอบมาตรการการนำการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ของประเทศไทย ตามที่ สอวช. ในบทบาทหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย หรือ NDE (National Designated Entity) ในส่วนของศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network, CTCN) จากการมอบหมายโดย ครม. โดยมีขอบเขตการดำเนินงาน 3 ประการคือ คือ 1. สนับสนุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2. แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และ 3. พัฒนากลไกความร่วมมือ เครือข่าย และการจัดทำข้อเสนอนโยบาย อววน. ตามบทบาท สอวช. หน่วยงานในกำกับกระทรวง อว.
สำหรับข้อเสนอมาตรการ อววน.ที่จะสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ของประเทศไทยนั้น ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า จะแบ่งเป็น 3 กลไกหลักคือ 1. กลไกด้านความร่วมมือ โดยการพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยในบาทบาทผู้ให้บริการ (Service Provider) สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคส่วนต่าง ๆ ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในภาคเอกชน และเป็นจุดเชื่อมระหว่างความต้องการระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ 2. กลไกการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี โดยจัดทำแพลตฟอร์มการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานภายในประเทศและระดับนานาชาติอย่างเป็นระบบ ตลอดจนต่อยอดเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเองภายในประเทศ นอกจากนี้ยังจัดทำแผนที่นำทาง (Road Map) เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อหนุนเสริมภาคส่วนต่าง ๆ ดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 3. กลไกสนับสนุนด้านการเงิน ผ่านการพัฒนากลไกการร่วมลงทุนด้านวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับแหล่งทุนภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงแหล่งทุนจากภาคเอกชน และสนับสนุน โครงการขนาดใหญ่ที่เป็นการยกระดับ (Scale-up) และการทดลอง (demonstration) ผ่านเครือข่ายนวัตกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก
ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงแนวทางการนำ อววน.เข้าสู่เป้าหมาย GHG Net Zero ภายในระยะ 5 ปี ว่า ประกอบด้วยโปรแกรมนำร่อง 3 โปรแกรม โปรแกรมที่ 1 สร้างเมืองต้นแบบในพื้นที่จังหวัดสระบุรี แม่เมาะ ระยอง โดยนำร่องเป็น สระบุรี และระยองแซนด์บ็อกซ์ ตั้งเป้าเป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และแม่เมาะโมเดล ตั้งเป้าสร้างระบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศน์ ปรับพื้นที่บราวน์ฟิลด์ (Brownfield) และสนับสนุนการทำงานของวิสาหกิจชุมชน สร้างให้เกิด 3 โซนพื้นที่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economic Zones) โปรแกรมที่ 2 สร้างมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) โดยมีเป้าหมาย 80 มหาวิทยาลัยที่จะเข้าร่วมโครงการ สนับสนุนให้เกิดชุมชนสีเขียว 400 แห่ง โดยภาพรวมจะสร้างให้เกิดบริษัทที่มีการพัฒนาสีเขียว 10,000 บริษัท และมีบริษัทที่นำเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้รวม 300 บริษัท และ 3. การพัฒนากำลังคน และสร้างมาตรฐานการรับรองในเรื่องคาร์บอนเครดิต ได้ตั้งเป้าพัฒนาผู้มีความรู้ผ่านแพลตฟอร์มการฝึกอบรม จำนวน 100,000 คน สร้างผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสีเขียว 50 แห่ง เป็นต้น
ทั้งนี้ที่ประชุมให้ความเห็นว่า ปัจจุบันภาคเอกชน รวมถึงกองทุนขนาดใหญ่ ให้ความสำคัญและสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ต้องดำเนินการสอดคล้องกับเป้าหมายในแนวทางดังกล่าว ภาครัฐจึงต้องมีบทบาทเข้าไปช่วยในการสนับสนุนภาคเอกชนเช่นกัน โดยจะเห็นได้ว่าในปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนเริ่มมีการกำหนดแผนการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวทางของประเทศอย่างชัดเจนและมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ
“ที่ประชุมให้การเห็นชอบตามกรอบมาตรการการนำ อววน. เพื่อสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย ตามที่ สอวช. เสนอ และได้มอบหมายให้ สอวช. ประสานงานร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการผลักดันและขับเคลื่อนมาตรการฯ และรายงานความก้าวหน้าต่อสภานโยบายต่อไป” ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่