บอร์ด EEC รับทราบ 5 เรื่องสำคัญทั้ง ระเบียงผลไม้ตะวันออก ท่าเรือบก แย้มข่าวดีนักลงทุนไซซ์บิ๊ก 5G เตรียมลงทุนไทย
วันที่ 1 มีนาคม 2564 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯ EEC) กล่าวภายหลังการ ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2564 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้า การดําเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 5 เรื่องสําคัญ คือ
1.โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC เป็นหนึ่งในการพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่อีอีซี ซึ่งได้ MOU จัดทําระบบห้องเย็น ระหว่าง สกพอ. ปตท. และ กนอ. เรียบร้อยแล้ว คาดว่าปลายปี 2564 จะแล้วเสร็จ ขณะนี้ได้ร่วมกับ อบจ.ระยอง เตรียมจัดทําระบบสมาชิก ชาวสวน ผลไม้ และกลุ่มสหกรณ์ ที่พร้อมเข้าร่วมโครงการ โดยระยะแรกจะคัดเลือกจากกลุ่มชาวสวนทุเรียนที่ได้รับมาตรฐานสากลสําหรับ ส่งออก (GAP) ในเบื้องต้นต้ังเป้าสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯเพิ่มขึ้น 20-30%
2.ภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ เป็นการลงทุนหลัก จากต่างประเทศรวม 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 55% และยังเริ่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ อาทิ การจัดระบบ บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ One Stop Service อํานวยความสะดวกพิธีการศุลกากรต่างๆ การกําหนดอัตรา ภาษีที่ชัดเจนสําหรับอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ เป็นต้น
3.แนวทางการดําเนินงานผลักดันการใช้ประโยชน์จาก 5G ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ท่อ เสา สาย จากสัญญาณ สู่ข้อมูลกลาง ขณะนี้ติดตั้งแล้วเกิน 80% ด้านการใช้ประโยชน์ก้าวสู่ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเพิ่มผู้ใช้ 5G ในภาคการผลิต ผลักดันภาคธุรกิจ โรงงานใน อีอีซี 10,000 แห่ง โรงแรม 300 แห่ง เป็นต้น ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการมีส่วนร่วม
4. รับทราบการลงนาม MOU ศึกษาการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ระหว่าง การท่าเรือฯ กับ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ที่ร่วมกันศึกษาแนวทางการลงทุน รูปแบบการให้บริการขนส่ง กําหนดแผนงานที่ เหมาะสมการพัฒนาท่าเรือบก ในเขตพื้นที่ Amata Smart & Eco City ใน สปป.ลาว ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง
และ 5.ที่ประชุมได้พิจารณา ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งการดําเนินงานเป็นไปตาม แผนคณะทํางานเร่งรัด ฯ และมีความคืบหน้าต่อเนื่องเป็นลําดับ โดยการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เพื่อเปิดพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2564 และการส่งมอบพื้นที่เวนคืน อยู่ในขั้นตอนการทําสัญญา ซื้อขายโดย รฟท. ซึ่งจะส่งมอบพื้นที่อย่างช้าภายในเดือนกันยายน 2564
“เร็วๆนี้ จะมีเซอร์ไพรส์เป็นนักลงทุนที่จะย้ายฐาน 5G มาประเทศไทย มันไม่ใช่แค่เรื่องของอินเตอร์เน็ต แต่ยังจะมีการลงทุนแบตเตอรี่ Data Storage ซึ่งจะต้องจับตาดูรายนี้เราเคยคุยไว้แล้ว เขาพร้อมที่จะมาคาดว่าไม่น่าเกินกลางปี ซึ่งเรื่องของ 5G จะทำให้ปรับโครงสร้างการผลิตเราทั้งหมด เมื่อมีการลงทุนท่อ เสา สาย และมันจะตามมาด้วยเกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตอนนี้เราลงทุนทั่วประเทศแล้วกว่า 400,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน BOI รับปากที่จะช่วยดูเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆให้ หากตรงไหนไม่ได้ก็สามารถมาใช้กฎหมายของ EEC ได้”
ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat