“สำเนียงระยองเป็นสำเนียงที่มีเอกลักษณ์ ทางคณะหนังใหญ่จึงมีการนำสำเนียงและภาษาระยองเข้ามาสอดแทรกในการแสดง โดยเฉพาะบทเจรจา หรือ บางทีมีการประยุกต์นำเหตุการณ์ปัจจุบันสอดแทรกเข้าไปบ้าง” ครูอำไพ บุญรอด ครูพากย์และผู้ดูแลคณะหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง กล่าวถึงการประยุกต์นำอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่โดดเด่น เช่นภาษาของคนระยองมาปรับใช้กับการแสดงหนังใหญ่
มหรสพกับแสงเงา
มนุษย์มีมหรสพที่เล่นกับแสงเงามากว่า 2,000 ปีแล้ว โดยเฉพาะในโลกตะวันออก เช่น อินเดีย จีน อียิปต์ ตุรกี ฯลฯ ส่วนหนังใหญ่ในไทยนั้นมีข้อคิดเห็นจากหลายกระแสว่าน่าจะได้รับอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมจาก 3 แหล่งที่มา คือ 1. อารยธรรมอินเดียที่ถือเป็นต้นแบบของดนตรี นาฏศิลป์ และวรรณกรรมที่ถูกแพร่กระจายในอุษาคเนย์กว่าพันปีแล้ว 2. วัฒนธรรมชวา ที่ส่งผ่านทางทะเลใต้ช่วงสมัยศรีวิชัย และ 3. วัฒนธรรมเขมร นอกจากนี้ยังมีข้อสรุปที่ว่าหนังใหญ่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเค้าโครงมาจากการแสดงฉายานาฏกะของอินเดีย โดยอิงหลักฐานคัมภีร์พุทธศาสนาและคัมภีร์มหาภารตะ (กรมศิลปากร. 2551)
หนังใหญ่ถือว่าเป็นมหรสพเก่าแก่และถือเป็นของสูงชั้นครูที่ใช้ในงานสำคัญ โดยเฉพาะในงานพระราชพิธีต่างๆ ของเจ้านาย ซึ่งปรากฏในเอกสารต่างๆ ในราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นมหรสพที่สามารถบ่งบอกได้ถึงความร่ำรวยทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะการแสดงแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้ผู้คนมากมาย รวมถึงมีการประกอบกันของศาสตร์และศิลป์อยู่หลายแขนงทั้ง วรรณคดี ดนตรี นาฏศิลป์และศิลปะการแสดง รวมถึงยังเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าในการอวดฝีมืองานช่างของแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
หนังใหญ่เคยมีบทบาทหน้าที่สำคัญในฐานะมหรสพที่มีความนิยม แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่มีมหรสพใหม่ๆ เกิดขึ้นและสามารถสร้างความสนุกสนานเข้าใจง่าย ทำให้ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 หนังใหญ่เริ่มลดบทบาทลงกลายเป็นมหรสพที่ใช้ในงานศพเจ้านายชั้นสูง และเริ่มกระจายออกสู่ท้องที่ห่างไกลมากยิ่งขึ้น เช่น เพชรบุรี ราชบุรี ระยอง พัทลุง ฯลฯ ที่ปรากฏพบว่าหนังใหญ่อยู่ในความดูแลของเจ้าเมืองและพระผู้ใหญ่ โดยใช้เล่นในงานสมโภชตามวัด
หนังใหญ่ มหรสพอันทรงคุณค่าของชาวระยอง
หนังใหญ่วัดบ้านดอนเป็นของล้ำค่าทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ปัจจุบันถูกเก็บรักษา ดูแล และจัดแสดงอยู่ในวัดบ้านดอน ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ตามประวัติหนังใหญ่ของวัดบ้านดอนไม่ปรากฏข้อมูลที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ โดยใคร
ด้วยความสวยงาม ลวดลายละเอียดละออของตัวหนังจึงมีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือของช่างหลวง และยังพบว่าลวดลายมีความคล้ายคลึงกับหนังใหญ่ชุดพระนครไหวที่สร้างขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 2 และอีกกระแสบอกว่าอาจจะเป็นฝีมือของช่างสองสกุล คือ สกุลกรุงเทพฯ และสกุลอยุธยา (นวลพรรณ บุญธรรม อ้างใน ชีวสิทธิ์ บุญยเกียรติ บรรณาธิการ. 2549)
หนังใหญ่ที่วัดบ้านดอนแห่งนี้พระยาสมุทรโภคชัยโชคชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) เจ้าเมืองระยองคนแรกได้สั่งซื้อหนังชุดนี้มาจากพัทลุงจำนวน 200 ตัว เพื่อเล่นในวัดจันทอุดม (วัดเก๋ง) ที่ท่านมีบทบาทในการร่วมสร้าง รวมถึงยังได้ว่าจ้างครูหนัง หรือ นายโรงที่ชื่อครูประดิษฐ์ มาเป็นผู้ฝึกสอนให้ชาวบ้านด้วย
หลังจากที่พระยาสมุทรโภคชัยโชคชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) สิ้นไป หนังใหญ่วัดบ้านดอนถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดจันทอุดม (วัดเก๋ง) ต่อมากลายเป็นวัดร้างและกลายเป็นโรงพยาบาลระยองในเวลาต่อมา และภายหลังหนังใหญ่ชุดนี้จึงถูกนำมาไว้ที่วัดบ้านดอนแห่งนี้
จากการนั่งคุยกันราวหนึ่งชั่วโมง ครูอำไพ บอกกับเราว่า สาเหตุที่ถูกนำมาเก็บไว้ที่วัดบ้านดอนเนื่องจากว่าครูเชิด ครูหนัง ครูพากย์อยู่ละแวกนี้จึงได้นำหนังใหญ่มาเก็บไว้ที่นี่เพื่อเป็นศูนย์กลางของการฝึกซ้อม จึงเกิดชื่อ “หนังใหญ่วัดบ้านดอน” จากนั้นเป็นต้นมา โดยมีพระครูปลัดวิรัตน์ อคฺคธมฺโม (พระครูบุรเขต วุฒิกร) เจ้าอาวาสวัดบ้านดอน คณะกรรมการอนุรักษ์หนังใหญ่วัดบ้านดอน และหน่วยงานในภาครัฐและเอกชน ร่วมกันสืบสาน อนุรักษ์ และเผยแพร่ให้คนภายนอกรู้จัก
หนังใหญ่วัดบ้านดอนที่ถูกโอบล้อมด้วยชาวระยองทั้งใกล้ไกล
หนังใหญ่วัดบ้านดอนไม่ได้ผูกขาดเป็นของชาวบ้านดอนเท่านั้นแต่หนังใหญ่วัดบ้านดอนมีสำนึกร่วมของความเป็นชาวระยองทั้งใกล้ไกลครูอำไพเล่าให้เราฟังต่อว่าตนนั้นเป็นคนทางบ้านค่ายไม่ใช่เป็นคนบ้านดอนแต่ถูกเชื้อเชิญจากครูอำนาจซึ่งเป็นครูพากย์หนังคนก่อน
“ตอนเด็กผมก็ชอบดูเขาพากย์โขน แล้วก็เริ่มลองพากย์ให้คนหนังเก่าๆ ฟังว่าแบบนี้ได้ไหม จากนั้นก็เริ่ม
พากย์หนังเรื่อยมา คนเก่าช่วงนั้นถ้ายังอยู่ก็อายุเป็นร้อยแล้ว เพราะครูอำนาจที่ชวนเรามาก็เสียไปตอนอายุเก้าสิบกว่า เราก็คิดว่าหนังใหญ่เป็นแม่บทของโขน ดังนั้นการจะพากย์ก็ต้องพากย์แบบโขน และลักษณะบทพากย์ก็คือบทร่าย เราก็นำเอาทำนองการพากย์โขนมาใช้ และตอนหลังก็เริ่มสอนให้เด็กพากย์”
การฝึกพากย์โดยใช้วิธีการแบบครูพักลักจำมักพบได้กับศิลปินดังๆ หลายคน เพราะวิธีนี้เห็นได้ถึงความมุ
มานะ และพรสวรรค์ของตัวศิลปินเอง เป็นการแสวงหาความรู้อันเริ่มต้นจากความสนใจของตนเองและสามารถถ่ายทอดความรู้นี้สู่คนรุ่นหลังต่อไป
จุดเด่นของหนังใหญ่วัดบ้านดอนไม่ใช่แค่การนำภาษาระยองมาใช้เท่านั้นแต่ยังเห็นถึงความสัมพันธ์ของคนระยองผ่านมหรสพหนังใหญ่โบราณนี้อีกหลายมิติจากคำบอกเล่าในท้องถิ่นว่าหนังใหญ่วัดบ้านดอนมักออกแสดงตามงานต่างๆเช่นงานประจำปีงานวัดหรืองานศพในพื้นที่เดิมนิยมเล่นตอนสีดาลุยไฟที่พิเศษคือมีการนำละครชาตรีหรือละครเท่งตุ๊กซึ่งเป็นหนึ่งในมหรสพท้องถิ่นของคนภาคตะวันออกมาเป็นผู้ลุยไฟประกอบการเชิดหนังด้วยและมีการใช้คนลุยไฟเป็นชาวมุสลิมในพื้นที่มัสยิดหนองบัวที่อยู่ในละแวกชุมชนวัดบ้านดอน
คุณยายเสถียร แสงมณี ผู้มาร่วมวงเสวนาด้วยเล่าให้ฟังถึงตอนนี้ว่า “เมื่อก่อนเล่นแบบนี้บ่อย แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว คนที่มาลุยไฟตอนนั้นเหมือนเขามีวิชาดับพิษไฟได้ คล้ายๆ กับว่าเหยียบไฟแล้วไม่ร้อน”
นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์หนังใหญ่ให้เล่นเรื่องพระอภัยมณีตอนผีเสื้อสมุทรซึ่งมีการทำหนังใหญ่ขึ้นมาใหม่โดยใช้คนในท้องถิ่นทำการวาดและแกะหนังครูอำไพบอกกับพวกเราว่า
“หลายคนเข้าใจว่าหนังใหญ่เล่นได้เฉพาะเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น แต่ที่จริงแล้วหนังใหญ่สามารถเล่นได้ทุก
เรื่องแล้วแต่ความนิยม”
หนังใหญ่วัดบ้านดอนคือมหรสพของชาวระยองที่มีการหยิบยกอัตลักษณ์ท้องถิ่นความเป็นคนระยองเข้ามาใช้หลายด้าน ปัจจุบันได้โยกย้ายส่วนของพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงหนังใหญ่ไปอาคารที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ด้านหลังคู่กับโรงละครที่ใช้ทำการแสดง มีเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นสนใจที่จะสืบสานอยู่ทั้งในส่วนของการเป็นผู้ทำตัวหนัง เป็นผู้เชิดหนัง และการเล่นดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง