กรณีหญิงสาวชาวจังหวัดระยองอ้างว่า ถูกเจ้าหนี้เชิดรถในระหว่างนำเงินไปไถ่ถอนคืน แต่เจ้าหนี้บอกว่าเป็นธนบัตรปลอม ไม่ยอมคืนรถให้ เกิดการยื้อแย่งทำให้เธอได้รับบาดเจ็บ ล่าสุดทางฝั่งคู่กรณี ยืนยันว่า เงินที่เธอนำมาไถ่ถอนนั้น เป็นธนบัตรปลอมจริง ๆ ตอนนี้ตำรวจอยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ติดตามจากรายงานคุณศิรัณพร มูลอุทก
นางสาวจันจิรา ประกอบเกื้อ อายุ 24 ปี ชาวจังหวัดระยอง ผู้เสียหาย เล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ถึงเหตุการณ์ที่ถูกเจ้าของเงินกู้ เชิดรถเก๋งฮอนด้าซิตี สีขาว ทะเบียน ฎฮ 9337 กรุงเทพมหานคร หลบหนี หลังจากนัดหมายนำเงินมาไถ่ถอนรถคืน แต่เจ้าหนี้กล่าวหาว่าเงินที่นำมาไถ่ถอนเป็นเงินปลอม
เจ้าของรถเล่าว่า ติดต่อกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้ทางเฟซบุ๊ก จำนวน 25,000 บาท เมื่อวันที่ 29 ธันวาคมปีที่แล้ว โดยได้นำรถเก๋งเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และต้องส่งดอกเบี้ยเดือนละ 2,500 บาท จนกว่าจะนำเงินไถ่รถคืน ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2564 ครบกำหนดชำระค่าดอกเบี้ย แต่ไม่มีเงินจึงขอเลื่อนออกไป กระทั่งวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ติดต่อเจ้าหนี้อีกครั้งเพื่อไถ่รถคืน แต่ยอดเงินทั้งต้นและดอกเพิ่มสูงกว่า 32,000 บาท จึงขอเลื่อนนัดมาเป็นคืนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่เกิดเหตุ ซึ่งเจ้าหนี้อ้างว่า เงินที่นำมาไถ่รถคืนนั้นเป็นธนบัตรปลอม จึงให้เธอนำเงินใส่บัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขานิคมพัฒนา แต่เป็นบัญชีของคนอื่น จึงกลัวว่าจะถูกหลอก เลยยืนยันจะให้เป็นเงินสดแทน แต่เจ้าหนี้กลับล็อกคอ ผลักลงจากรถ และลากไปกับถนน ทำให้ได้รับบาดเจ็บ ก่อนจะเชิดรถขับหลบหนี
ตำรวจ สภ.นิคมพัฒนา จัดกำลังออกติดตามหารถคันดังกล่าว กระทั่งได้รับการติดต่อจาก สามี-ภรรยา คู่กรณี ซึ่งยินดีจะนำรถมามอบให้ และพร้อมเจรจากับเจ้าของรถ แต่ต้องโอนเงินเข้าบัญชีเท่านั้น โดยชี้แจงถึงเหตุผลที่ไม่กล้ารับเงินสด เนื่องจากมั่นใจว่าธนบัตรใบละ 1,000 บาท จำนวน 32 ใบ ที่เจ้าของรถนำมาไถ่รถคืนนั้นเป็นธนบัตรปลอม จึงให้แสดงความบริสุทธิ์โดยการนำไปซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ หรือฝากเข้าบัญชีธนาคาร เพราะก่อนหน้านี้ เจ้าของรถเคยปลอมแปลงใบเสร็จการโอนเงิน ส่งมาให้ทางข้อความไลน์ แต่ไม่มียอดเงินโอนเข้าบัญชี
ล่าสุด คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ติดใจเอาความ เจ้าของรถให้ญาติของแฟนโอนเงินคืนเจ้าหนี้จำนวน 24,000 บาท ส่วนอีก 1,000 บาท ขอเป็นค่ารักษาพยาบาล และเมื่อทีมข่าวพยายามสอบถามเจ้าของรถซึ่งเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนอีกครั้ง ไม่ยอมปริปากถึงประเด็นการใช้ธนบัตรปลอม บอกเพียงสั้น ๆ ว่า เจราจาไกล่เกลี่ยกับคู่กรณีจบแล้ว และภายหลังลงบันทึกประจำวัน ตำรวจอนุญาตให้นำรถกลับได้
สำหรับการดำเนินคดี ตำรวจระบุว่า ยังไม่มีการแจ้งข้อหากับใคร เพราะจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนประเด็นที่มีการกล่าวหาว่าใช้ธนบัตรปลอมนั้น จะต้องตรวจสอบพยานหลักฐานอย่างละเอียดเพื่อทำการขยายผลอีกครั้ง
หากพบการกระทำความผิด ฐานปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก 10-20 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ