วันที่ 5 พ.ย.65 นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุถึง การที่รองโฆษกพรรคภูมิใจไทยออกมาตอบโต้ความเห็นของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ ไม่สนับสนุนกัญชาเสรีว่า ตนขอยืนยันว่าที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนเรื่องการส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์มาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนที่ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเข้าพิจารณาในชั้นรับหลักการวาระที่ 1 เสียโดยเมื่อปี 63 สภามีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมอย่างเป็นระบบ ตนก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นในฐานะ กมธ. วิสามัญ ฯ ชุดดังกล่าว โดยร่วมทางออกในการนำพืชที่เป็นยาเสพติดให้โทษในขณะนั้นโดยเฉพาะกัญชา กัญชง และกระท่อม มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหลัก โดยรัฐบาลต้องมั่นใจว่าสามารถควบคุมโทษ โดยเฉพาะสาร THC ที่มีความสามารถในการเสพติดให้ได้ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้มีการปลูกกัญชาอย่างเสรี ปล่อยให้มีการจำหน่ายกัญชาอย่างเสรี ให้มีการเสพกัญชาอย่างเสรี ซึ่งคณะ กมธ. วิสามัญ ฯ ชุดดังกล่าว ได้จัดทำรายงาน และข้อสังเกต นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบต่อรายงาน และข้อสังเกตอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งโดยสรุปข้อสังเกตท้ายรายงานฉบับดังกล่าว ให้สามารถนำกัญชา กัญชง และกระท่อม มาในประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น ยังมีข้อสังเกตท้ายรายงาน ให้รัฐบาลเสนอ “ร่าง พ.ร.บ. พืชควบคุมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ พ.ศ. …. ” ด้วย แต่ปรากฎว่าทางผู้เสนอร่างกฎหมายกัญชาในครั้งนี้ กลับไม่ยอมเสนอร่างพ.ร.บ. ตามข้อสังเกตในรายงานฉบับดังกล่าว กลับเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ” แทน ซึ่งตนและพรรคประชาธิปัตย์มีความกังวลในหลายมาตรา
นายบัญญัติ กล่าวต่อว่า ก่อนปิดสมัยประชุม ในเดือนกันยายน 65 พรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกสภาผู้แทนราษรก็มีมติเสียงข้างมากให้ กมธ. วิสามัญ ฯ ชุดนี้ ถอนร่างไปทบทวนเสียใหม่ ให้มีความสมบูรณ์ พอที่สภาผู้แทนราษฎรจะสามารถพิจารณาในวาระ 2 ให้เป็นกฎหมายที่มีความถูกต้องสมบูรณ์ได้ ไม่ใช่เป็นร่างที่ส่อไปทางกัญชาเสรีมากจนเกินไป และร่างพรบ.ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกมธ. วิสามัญ ฯ ชุดนี้ ก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมมากมาย จนแทบจะจำร่างที่ผ่านความเห็นชอบในวาระ 1 ไม่ได้ อีกทั้งมีผู้สงวนความเห็น ผู้สงวนคำแปรญัตติ ที่ไม่หลากหลายพอที่จะให้สภาพิจารณาได้โดยสะดวก ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอให้คณะ กมธ. วิสามัญ ฯ ชุดนี้นำไปปรับปรุง ถึง 13 ประเด็น แต่เป็นที่น่าเสียดาย คณะกมธ. วิสามัญ ฯ ชุดนี้กลับยืนยันร่างเดิมทุกมาตรา โดยไม่มีการทบทวน แต่อย่างใด
ยกตัวอย่าง ร่างมาตรา 3 มีการระบุว่า “กัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ” ซึ่งตนและพรรคประชาธิปัตย์มีความกังวลมาก หากปล่อยผ่านไป จะปิดช่องทางในการทบทวนทางวิชาการและข้อกฎหมาย ให้สามารถประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษในอนาคตได้อีกครั้ง เช่นกรณีคณะกรรมการเห็นโทษและพิษภัยหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันประกาศถอดกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปแล้ว เมื่อต้นปี 65 นี้ หากตั้งใจรับฟังอย่างไม่มีอคติ จะรับรู้ได้ว่าขณะนี้สังคม และนักวิชาการ ต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ถึงผลกระทบจากสารเสพติดกัญชาต่ออันตรายในสังคม ทางด้าน ร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ อย่างหนาหู
นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตนในฐานะของผู้อภิปรายรับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับนี้ในวาระ 1 ก็เคยตั้งข้อสังเกตไว้อีกด้วยว่า จะต้องเป็นการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น และยังเสนอให้ กมธ. วิสามัญฯ ชุดนี้ ตั้งตัวแทนจากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษา แต่ก็ทราบว่า ไม่มีการตั้งตามที่ตนเสนอแต่อย่างใด ตนยังได้นำข้อเสนอแนะของสมาคมจิตแพทย์มานำเสนอต่อที่ประชุมสภาว่า การใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นั้น ยังต้องคำนึงถึงกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ มารดาขณะให้นมบุตร รวมถึงผู้ที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต และต้องปกป้องผู้ไม่ประสงค์จะรับกัญชาเข้าสู่ร่างกายด้วย ตนก็ยังร่วมกับ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อีกหลายท่าน เคยยื่นข้อเสนอเป็นหนังสือต่อท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ประกาศให้พื้นที่รัฐสภาเป็นเขตปลอดกัญชา เช่นเดียวกับสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และโรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น เพื่อปกป้องสิทธิ์บุคคลทั่วไปให้ไม่ต้องรับกัญชาปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว
“ผมยืนยันว่านายจุรินทร์ได้ชี้แจงด้วยสติปัญญาและเหตุผล 100% ใช้อารมณ์ 0% ขอวิงวอนให้คนที่คิดจะวิพากษ์วิจารณ์ โปรดใช้สติปัญญาและเหตุผลในการฟังและการตอบด้วย ผู้คนในสังคมจะเป็นผู้ตัดสิน กัญชาแม้ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ตามนิยามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน ที่ลงนามประกาศไปแล้วเมื่อต้นปี 65 แต่ทางการแพทย์ทั่วโลกก็ยังจัดกัญชาเป็น “สารเสพติด” หากปล่อยให้มีการใช้กัญชาอย่างเสรี เช่นในปัจจุบัน ระยะยาวจะส่งผลให้เกิดโทษและพิษภัยต่อสมองของพี่น้องประชาชน จากเบาไปหาหนักดังนี้ ระยะที่ 1. สารเสพติดจะทำลายสมองส่วนควบคุมสติปัญญาและเหตุผล ระยะที่ 2. สารเสพติดจะทำลายสมองส่วนควบคุมอารมณ์ ระยะที่ 3. เมื่อสมองถูกทำลายในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 สมองจะเหลือแต่ส่วนสัญชาตญาณ ที่ขาดการควบคุม คล้ายสมองซาตาน หรือเอเลี่ยน ทำอะไรไปโดยขาดการยับยั้งชั่งใจ ขาดเมตตา เป็นอันตรายต่อ ร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ ซึ่งตนรู้สึกเป็นห่วงอย่างยิ่ง” นพ.บัญญัติกล่าว