ความเห็นทางกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องง่ายขอ‘หมายจับ’ใบสั่งจราจร
หมายเหตุ – นายสันติ ผิวทองคำ ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระยอง อรรถาธิบายขั้นตอนการขออนุมัติหมายจับในคดีความผิดตามใบสั่งจราจรที่ออกโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผู้เขียนได้รับทราบข่าวสารจากสื่อสารมวลชนว่า “ตำรวจเอาจริง ใครไม่จ่ายค่าปรับใบสั่ง เจอหมายจับแน่ เผยสถิติสูงสุดค้างจ่าย 59 ใบ” และ “เริ่มวันนี้ โดนใบสั่งผิดจราจร ไม่จ่ายค่าปรับ เจอ ออกหมายจับ”
เมื่ออ่านดูเนื้อข่าวแล้วจับใจความได้ว่าต่อไปนี้เจ้าพนักงานตำรวจจะขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ที่ต้องหาว่ากระทำความผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ในคดีที่เจ้าพนักงานตำรวจกล่าวหาด้วยการออกใบสั่ง
ข่าวดังกล่าวทำให้ผู้ใกล้ชิดผู้เขียนได้สอบถามมายังผู้เขียนเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตำรวจในเรื่องดังกล่าวมาจำนวนมากว่าทำได้หรือไม่เพียงใด
ผู้เขียนจึงขอนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาเพื่อเป็นวิทยาทานดังนี้
1.คดีความผิดตาม “ใบสั่ง” ของเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานจราจรคืออะไร คดีประเภทนี้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 หรือกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง ที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนและมีโทษปรับ
หรือกล่าวอีกนัยก็คือเป็น “คดีลหุโทษ” นั่นเอง!
2. อายุความ + อำนาจศาล ของคดีใบสั่ง
2.1 คดีความผิดตามใบสั่ง มีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อาญา มาตรา 95 (5)
2.2 คดีความผิดตามใบสั่ง อยู่ในอำนาจศาลแขวง และอำนาจเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวน
2.3 คดีประเภทนี้มีอายุความเพียง 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ
3.การเริ่มต้นดำเนินคดีในคดีความผิดเกี่ยวกับใบสั่ง
3.1 ขั้นตอนการโต้แย้งจากผู้มีรายชื่อเป็นเจ้าของรถหรือผู้ครอบครอง เนื่องจากคดีประเภทนี้เป็นความผิดเล็กน้อย และหากเป็นกรณีที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานจราจรพบการกระทำความผิดผ่าน “กล้องวงจรปิด” ซึ่งมิใช่ความผิดซึ่งหน้า เบื้องต้นตำรวจหรือเจ้าพนักงานจราจรย่อมมีข้อมูลเพียงอย่างเดียวคือ “หมายเลขทะเบียนรถ” ที่กระทำผิดกฎหมายจราจร
กรณีไม่แน่ชัดว่าผู้มีรายชื่อถือกรรมสิทธิ์รถหรือผู้มีรายชื่อเป็นผู้ครอบครองรถนั้นเป็นผู้ขับขี่ฝ่าฝืนหรือกระทำผิด ในข้อหาที่กล้องวงจรปิดหรือกล้อง CCTV บันทึกไว้ได้หรือไม่
กฎหมายจราจรจึงกำหนด “ขั้นตอน” ให้โอกาสแก่บุคคลผู้มีรายชื่อเป็นเจ้าของรถหรือมีรายชื่อเป็นผู้ครอบครองได้โต้แย้งข้อหาที่กล้องบันทึกไว้เสียก่อนที่จะส่งเรื่องไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี
นั่นหมายความว่า ตำรวจหรือเจ้าพนักงานจราจรยังไม่อาจกล่าวโทษหรือกล่าวหาอันนำไปสู่การออกหมายเรียกหรือออกหมายจับผู้มีรายชื่อเป็นเจ้าของรถหรือผู้มีรายชื่อเป็นผู้ครอบครองได้ทันที
แต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 140 ถึงมาตรา 141/1 กำหนดดังต่อไปนี้
(1) เจ้าพนักงานจราจรพบการกระทำผิดแล้ว “ออกใบสั่ง” ให้ผู้ขับขี่ โดยผูก หรือแสดงใบสั่งไว้ที่รถหรือส่งใบสั่งพร้อมด้วยพยานหลักฐานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถ เพื่อให้ชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนดในใบสั่งนั้น
(ก) เมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้ติดผูก หรือแสดงใบสั่งไว้ที่รถหรือวันที่ส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ดังกล่าว
(ข) เมื่อเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งแล้ว ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถนั้นเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ระบุในใบสั่ง เว้นแต่เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถจะได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับใบสั่งว่าผู้อื่นเป็นผู้ขับขี่
(2) กรณีเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งแล้ว ไม่โต้แย้งต้องชำระค่าปรับภายในเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้ชำระค่าปรับตามใบสั่งแล้ว คดีเป็นอันเลิกกัน
(3) กรณีผู้ขับขี่ เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งแล้ว ไม่โต้แย้งและไม่ชำระค่าปรับภายในเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่ง ให้เจ้าพนักงานจราจร ตั้งแต่สารวัตรขึ้นไปมีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งและจำนวนค่าปรับที่ค้างชำระให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระค่าปรับตามที่ระบุในใบสั่ง และให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถชำระค่าปรับภายใน 15 วัน หากไม่ชำระค่าปรับให้ดำเนินการต่อไปดังนี้
(ก) ให้เจ้าพนักงานจราจรแจ้งจำนวนค่าปรับที่ค้างชำระไปยังนายทะเบียน และให้นายทะเบียนแจ้งให้ผู้มาติดต่อขอชำระภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้นทราบ เพื่อไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
(ก.1) กรณีเจ้าของรถยอมรับและชำระค่าปรับ
(1) เจ้าของรถยอมรับและชำระค่าปรับให้แก่เจ้าพนักงานจราจร ให้นำหลักฐานแสดงการชำระค่าปรับไปแสดงต่อนายทะเบียนเพื่อให้ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้นต่อไป
(2) เจ้าของรถยอมรับและชำระค่าปรับให้แก่นายทะเบียน ให้นายทะเบียนมีอำนาจรับชำระค่าปรับตามจำนวนที่ค้างชำระแทนได้
(3) เมื่อชำระค่าปรับครบถ้วนถูกต้องแล้ว คดีเป็นอันเลิกกัน และในกรณีเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้ ให้ผู้ขับขี่นำหลักฐานการชำระค่าปรับไปขอรับใบอนุญาตขับขี่คืนจากเจ้าพนักงานจราจรผู้เรียกเก็บ
(ก.2) กรณีเจ้าของรถไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนด 30 วัน ให้เจ้าพนักงานจราจรแจ้งนายทะเบียนให้งดการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้น และแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
(ก.3) กรณีที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถได้รับแจ้งแล้ว ปฏิเสธว่ามิได้กระทำผิดตามข้อหาที่แจ้งตามใบสั่ง
(1) ให้ผู้ขับขี่ หรือเจ้าของรถทำหนังสือโต้แย้งข้อกล่าวหานั้นภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน
(2) เมื่อเจ้าพนักงานจราจร หรือหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร ได้รับหนังสือโต้แย้งจากผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถแล้ว ยังคงยืนยันและเห็นสมควรดำเนินคดีต่อผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถให้ส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อฟ้องต่อศาลต่อไป แล้วแจ้งผลให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทราบ
จะเห็นได้ว่าก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานจราจรจะยืนยันดำเนินคดีกับผู้ขับขี่รถที่ตรวจพบจากกล้องวงจรปิด จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 140 ถึงมาตรา 141/1 กำหนดให้ครบถ้วนเสียก่อนในเบื้องต้น
กรณีหาอาจกล่าวโทษและขออนุมัติศาลออกหมายจับบุคคลผู้มีรายชื่อเป็นเจ้าของรถ หรือบุคคลผู้มีรายชื่อเป็นผู้ครอบครองรถด้วยหลักฐานเพียงภาพถ่ายการกระทำความผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ในคดีลหุโทษ เพียงเล็กน้อยนั้นหาอาจทำดังที่ออกข่าวสารทางสื่อสารมวลชนได้ไม่
3.2 ขั้นตอนการยืนยันดำเนินคดีต่อผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถโดยส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวน แล้วต้องเริ่มสอบสวนตามขั้นตอนที่ ป.วิ.อาญา + พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 กำหนด กรณีหาอาจไปขออนุมัติต่อศาลออกหมายจับทันทีตามที่ออกข่าวสารต่อสื่อมวลชนได้ไม่ ซึ่งขั้นตอนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สรุปได้ดังนี้
(1) พนักงานสอบสวนต้องสอบสวน เจ้าพนักงานจราจรผู้ออกใบสั่ง เป็นผู้กล่าวหา ยืนยัน รายละเอียดตามหนังสือของเจ้าพนักงานจราจร เช่น วันเวลา สถานที่เกิดเหตุ ชื่อ ชื่อสกุล และหมายเลขประจำตัวประชาชนของผู้ต้องหา หมายเลขทะเบียนรถของผู้ต้องหา พฤติการณ์โดยย่อ ข้อหาที่กล่าวหา
(2) พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานเอกสารที่บ่งชี้ให้เห็นว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองเป็นผู้กระทำผิดตามใบสั่งเข้าสำนวน และหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
(4) เมื่อพยานหลักฐานเพียงพอแจ้งข้อกล่าวหาตามใบสั่ง จึงจะออกหมายเรียกให้เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองมาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาได้
(4.1) การออกหมายเรียก ซึ่งปกติพนักงานสอบสวนจะต้องออกหมายเรียกอย่างน้อย 2 ครั้ง กรณีหาอาจไปขออนุมัติศาลออกหมายจับทันทีนั้นหาอาจทำได้ไม่
(4.2) หากเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองจงใจไม่ยอมไปพบ พนักงานสอบสวนจึงจะรวบรวมหลักฐานทั้งหมดไปยื่นคำร้องขอต่อศาลแขวงเพื่อพิจารณาอนุมัติหมายจับ
ทั้งนี้ หากเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองเข้าพบพนักงานสอบสวนและยอมชำระค่าปรับ ก็ไม่อาจขอหมายจับเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองได้
(5) แม้ศาลอนุมัติหมายจับเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอแล้วก็ตาม กรณีหากจับกุมเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองได้ตามหมายจับ เมื่อแจ้งข้อหาตามหมายจับเสร็จแล้ว
(5.1) หากเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ ให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ
(5.2) หากเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนหรือตำรวจไม่มีอำนาจควบคุมตัวหรือคุมขัง เพราะเป็นคดีลหุโทษ พนักงานสอบสวนคงมีอำนาจเพียงควบคุมตัวไว้เพียงเท่าเวลาที่จะสอบปากคำเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองเสร็จสิ้นตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 87 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499มาตรา 8 วรรคหนึ่งเท่านั้น
กล่าวได้ว่าแม้มีหมายจับก็ไม่อาจควบคุมตัวเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในข้อหาตามใบสั่งได้นั่นเอง
(6) พนักงานสอบสวนต้องเร่งสอบสวนและสรุปสำนวนให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดผัดฟ้องซึ่งปกติไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้แจ้งข้อหา
3.3 กรณีเจ้าของรถหรือผู้ครอบครอง ไม่ยอมไปพบพนักงานสอบสวน หรือศาลอนุมัติหมายจับแต่จับตัวไม่ได้ภายใน 1 ปี นับถือว่าคดีขาดอายุความ
4.กล่าวโดยสรุป
(1) คดีความผิดตามใบสั่ง กฎหมายถือเป็นคดีความผิดลหุโทษ มีอายุความเพียง 1 ปี
(2) การดำเนินคดีกรณีไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถเป็นผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรตามภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิด หรือกล้อง CCTV หรือไม่ ตำรวจหรือพนักงานจราจรต้องให้โอกาสเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองโต้แย้งตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 140 ถึงมาตรา 141/1 เสียก่อน กรณีหาอาจขออนุมัติศาลออกหมายจับทันทีนั้นหาอาจทำได้ไม่
(3) กรณีตำรวจหรือเจ้าพนักงานจราจรประสงค์จะขอหมายจับต้องเข้ากล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐาน และออกหมายเรียกเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองให้มาพบอย่างน้อย 2 ครั้ง และการส่งหมายเรียกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ป.วิ.อาญา และต้องมั่นใจว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองได้รับหมายเรียกแล้ว จงใจไม่ยอมไปพบพนักงานสอบสวน ตามที่กำหนด
(4) ศาลต้องพอใจกับพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนกล่าวคือพยานหลักฐานต้องเพียงพอเชื่อได้ว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองเป็นผู้ขับขี่รถในวันเกิดเหตุและจงใจไม่ยอมไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกถึง 2 ครั้ง 2 คราว และคดีของพนักงานสอบสวนไม่ขาดอายุความ
ศาลจึงจะพิจารณาขออนุมัติหมายจับเจ้าของรถหรือผู้ครอบครอง ตามที่ร้องขอ กรณีหาอาจอนุมัติหมายจับตามใจเจ้าพนักงานตำรวจไม่
เพราะศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาแก่สังคม
(5) แม้ศาลอนุมัติหมายจับแก่เจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานตำรวจ ก็ต้องติดตามตัวเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองมาแจ้งข้อหาให้ได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันเกิดเหตุ และแม้จะพบตัวเจ้าของรถก็ไม่อาจควบคุมตัว หรือควบคุมขังได้เพราะเป็นเพียงคดีความผิดเล็กน้อย หรือลหุโทษ คงได้แต่เพียงสอบถามชื่อนามสกุล และแจ้งข้อหาให้ทราบแล้วต้องปล่อยตัวไปโดยพลันเท่านั้น
(6) จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการขออนุมัติศาลออกหมายจับในคดีความผิดตามใบสั่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกฎหมายมองว่าเป็นเพียงคดีความผิดที่มีโทษเพียงเล็กน้อยและเป็นคดีลหุโทษ จึงกำหนดเงื่อนไขไว้ค่อนข้างเคร่งครัด
ผู้ใช้รถใช้ถนนหรือเจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถ จึงไม่ควรกังวลกับข่าวที่แพร่ออกทางสื่อสารมวลชนดังกล่าวมากจนเกินไป
เพราะการอนุมัติหมายจับเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถในคดีความผิดตามใบสั่ง เป็นดุลพินิจของศาล หาใช่เป็นดุลพินิจของตำรวจไม่!?!