เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 สถานีรถไฟมาบตาพุด จังหวัดระยอง นายพงษ์ศักดิ์ บุญสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายด้านปฏิบัติการ ฝ่ายบริการสินค้า เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการขนส่งผลไม้ (ทุเรียน) ส่งออกทางรถไฟไปจีน ด้วยเส้นทางเดินรถขบวนพิเศษจากมาบตาพุด จังหวัดระยอง ถึงจังหวัดหนองคาย และขนส่งต่อไปยังสถานีท่านาแล้งใน สปป.ลาว จากนั้นเปลี่ยนการขนส่งไปบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จากสถานีเวียงจันทร์ใต้ ไปยังปลายทางประเทศจีน เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรผ่านทางรถไฟ และขยายตลาดผลไม้ไทยออกสู่ต่างประเทศ
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงข่ายขนส่งระบบรางมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับนานาชาติ ทั้งด้านการเดินทางและการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะการเพิ่มทางเลือกในการขนส่งสินค้าทางการเกษตรให้แก่พี่น้องเกษตรกร เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางรางถือเป็นระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน และมีความคุ้มค่า สามารถขนส่งได้ครั้งละจำนวนมากกว่าทางถนนหลายเท่าตัว ซึ่งที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้สนับสนุน กลุ่มบริษัทพันธมิตรทางการค้า ทดลองเปิดเดินขบวนรถขนส่งสินค้าทางรถไฟ ไปยังศูนย์กระจายสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟสายใต้ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การสนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าจากถนนมาสู่ระบบราง โดยมีบริษัท ไทยเรล โลจิสติกส์ จำกัด นำร่องขนส่งสินค้าบนแคร่แบบเปลือย จำนวน 10 แคร่ และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างโมเดิร์นเทรด โลตัส) ขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ด้วยตู้สินค้าประเภทคอนเทนเนอร์อีก 10 แคร่ รวมทั้ง บริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด นำร่องทดลองขนส่งตู้สินค้าผลไม้ ทุเรียน และมะพร้าวน้ำหอม บรรจุในคอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิ จนประสบผลสำเร็จมาแล้วเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
ล่าสุดวันนี้จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่การรถไฟฯ ให้การสนับสนุน บริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด ในการขนส่งทุเรียนส่งออกทางรถไฟ จำนวน 25 ตู้ จำนวน 425 ตัน มูลค่า 75 ล้านบาท ไปสู่ประเทศจีน โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิพร้อมติดตั้งเครื่องทำความเย็นในตัว นำส่งผลไม้จากแหล่งผลิตในพื้นที่ภาคตะวันออกจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ตรงสู่ประเทศจีนได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาผลไม้ล้นตลาด และที่สำคัญยังสามารถลดระยะเวลาการเดินทาง ลดการสัมผัสเชื้อโรค ประหยัดต้นทุนการขนส่ง และรักษาสภาพสินค้าส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในระยะแรกจะเริ่มการขนส่งทุเรียนทางรถไฟไปจีนก่อนจำนวน 25 ตู้ เริ่มออกเดินทางวันที่ 25 เมษายน 2565 จากมาบตาพุด ถึงสถานีหนองคายวันที่ 26 เมษายน 2565 เพื่อขนส่งต่อไปยังสถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว และเชื่อมการขนส่งไปยังเส้นทางรถไฟจีน-ลาว สู่จุดหมายปลายทางที่ประเทศจีน และหลังจากนั้นจะมีการทยอยขนส่งทุเรียนทางรถไฟอย่างต่อเนื่องในอนาคต
นายเอกรัช กล่าวต่อว่า ในโอกาสที่การรถไฟฯ สนับสนุนเปิดเดินรถขบวนพิเศษขนส่งทุเรียนไปประเทศจีนครั้งนี้ ยังได้เชิญตัวแทนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมเดินทางศึกษาดูงาน เพื่อสร้างความเข้าใจในการขนส่งสินค้าทางรางที่ดียิ่งขึ้น ประกอบด้วย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คณะทำงานผู้ว่าราชการจังหวัดระยองคณะผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย สภาหอการค้าจังหวัดระยอง สำนักพาณิชย์จังหวัดระยอง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สมาคมผู้ส่งออกผลไม้ภาคตะวันออก สาธารณสุขกองควบคุมโรคภาคตะวันออก และเจ้าของล้งทุเรียนเขตภาคตะวันออก
“การรถไฟฯ พร้อมอำนวยความสะดวกในการนำระบบขนส่งทางราง เข้ามาสนับสนุนการขนส่งสินค้าเกษตรเพื่อเชื่อมโยงผลผลิตจากแหล่งเพาะปลูกไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงส่งออกสู่เวทีโลก รวมถึงเป็นทางเลือกในการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ให้สามารถกระจายและจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่ดียิ่งขึ้น”