วันที่ 9 สิงหาคม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำสำคัญทั่วประเทศ ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน ปี 2564 จำนวน 375 จุดตรวจวัด 59 แหล่งน้ำสายหลัก และ 6 แหล่งน้ำนิ่ง โดยการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ 2 ครั้ง คือ เดือนกุมภาพันธ์ และ เดือนพฤษภาคม จากการประเมินโดยใช้ดัชนีคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน 1 (Water Quality Index ; WQI) (โดยแม่น้ำยมไม่ได้นำมาประเมิน เนื่องจากน้ำแห้งมีการขาดตอนของแม่น้ำทั้ง 2 ครั้งที่เก็บตัวอย่างน้ำ) พบว่า แหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 42 (27 แหล่งน้ำ) เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 41 (26 แหล่งน้ำ) และเกณฑ์เสื่อมโทรม ร้อยละ 17 (11 แหล่งน้ำ)
อรรถพล เจริญชันษา
นายอรรถพล กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า 1) แหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ แม่น้ำอิง กก ลี้ เพชรบุรีตอนบน กุยบุรี ปราณบุรี แควน้อย แม่กลอง แควใหญ่ หนองหาร เลย สงคราม อูน ลำชี ลำตะคองตอนบน พังราดตอนล่าง ประแสร์ ตาปีตอนบน ตรัง ปัตตานีตอนบน หลังสวนตอนบน สายบุรี ทะเลหลวง ปากพนัง พุมดวง ชุมพร และตาปีตอนล่าง 2) แหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ได้แก่ แม่น้ำน่าน วัง กว๊านพะเยา ปิง แม่จาง เพชรบุรีตอนล่าง เจ้าพระยาตอนบน น้อย เจ้าพระยาตอนกลาง ป่าสัก ท่าจีนตอนบน มูล ชี เสียว พอง จันทบุรี นครนายก ระยองตอนบน เวฬุ ตราด บางปะกง ปราจีนบุรี ทะเลน้อย ปัตตานีตอนล่าง ทะเลสาบสงขลา และหลังสวนตอนล่าง 3) แหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ได้แก่ บึงบอระเพ็ด กวง ท่าจีนตอนกลาง สะแกกรัง ลพบุรี ท่าจีนตอนล่าง เจ้าพระยาตอนล่าง ลำปาว ลำตะคองตอนล่าง พังราดตอนบน และระยองตอนล่าง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ปี 2563 จะเห็นได้ว่า แม่น้ำตาปีตอนบน และแม่น้ำแควน้อย ที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ขยับลงมาอยู่ในเกณฑ์ดี
ลำตะคองตอนล่าง
ทั้งนี้ แหล่งน้ำโดยรวมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีคุณภาพน้ำต่ำลงกว่าช่วงเดือนมกราคม- มิถุนายน ของปี 2563 ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก แหล่งน้ำโดยรวมมีคุณภาพน้ำดีกว่าช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน ของปี 2563 ไม่มากนัก และแหล่งน้ำภาคเหนือ คุณภาพน้ำโดยรวมใกล้เคียงกับปี 2563 จำนวนแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากที่สุดอยู่ในภาคกลางเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยแหล่งน้ำที่คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมที่สุด คือ แม่น้ำลำตะคองตอนล่าง (เทศบาลนครนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา) โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหามาจากการปล่อยทิ้งน้ำเสียจากชุมชน กิจกรรมทางการเกษตร และอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่